วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท


๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท



          ๑.พอเพียง คือ อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เบียดเบียนใคร
...คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง หมายความว่าสองขาของเรายืนอยู่บนพื้นได้ไม่หกล้มไม่ต้องขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่
..คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น...

. การประหยัด คือหลักประกันของชีวิต
...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดี ไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย..

. ประหยัด เพื่อความอยู่รอดและก้าวหน้า
...วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไปมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้า ต่อไปได้โดยสวัสดี...



.เพียรสร้างสรรค์ความดีความเจริญเพื่อประโยชน์และความสุข
....ความพากเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง
  ....ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม..

.กำลังแห่งความเพียร นำไปสู่ความสำเร็จ
...ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆๆ หากแต่อุตสาหะพยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือก็ยังพยายามติดต่อไปไม่ทอดธุระ กำลังความเพียรจึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไป จนบรรลุความสำเร็จโดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้...


วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทอาขยานบทหลักชั้นมัธยมศึกษาปีที่๑-๓

นิราศภูเขาทอง

     มาถึงบางธรณีทวีโศก                 ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น  
   โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น                    ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร  
   เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้                 ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย                        
   ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ           เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ  
   ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า              ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา  
   เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา           ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย  
   โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง                     เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย  
    นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ                  ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ  
             ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์           มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต  
   แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร                 จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
                                                                                                         (สุนทรโวหาร (ภู่)




โคลงโลกนิติ

พระสมุทรสุดลึกล้น                        คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดวา                                     หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา                                      กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้                                       ยากแท้หยั่งถึง ฯ

ก้านบัวบอกลึกตื้น                          ชลธาร
มรรยาทส่อสันดาน                                  ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน                             ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ                            บอกร้าย แสลงดิน
                                                         
โคควายวายชีพได้                          เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง                                     อยู่ไซร้
คนเด็ดดับสูญสัง-                                    ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้                                  แต่ร้าย กับดี

เพื่อนกิน สินทรัพย์แล้ว                    แหนงหนี
หาง่าย  หลายหมื่น                                  มากได้
เพื่อนตาย ถ่ายแทนชี                               วาอาตม์
หายาก ฝากผีไข้                                     ยากแท้จักหา


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาเดชานุศร





โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

๑. เพราะความดีทั่วไป
                                ทำดีไป่เลือกเว้น             ผู้ใด ใดเฮย
                         แต่ผูกไมตรีไป                      รอบข้าง
                        ทำคุณอุดหนุนใน                   การชอบ ธรรมนา
                        ไร้ศัตรูปองมล้าง                    กลับซ้องสรรเสริญ
    ๓. เพราะถามฟังความก่อนตัดสินใจ
                                ยินคดีมีเรื่องน้อย           ใหญ่ไฉน  ก็ดี
                        ยังบ่ลงเห็นไป                       เด็ดด้วน
                        ฟังตอบขอบคำไข                  คิดใคร่  ครวญนา
                        ห่อนตัดสินห้วนห้วน               เหตุด้วยเบาความ
    ๔. เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด
                                พาทีมีสติรั้ง                รอคิด
                        รอบคอบชอบแลผิด              ก่อนพร้อง
                        คำพูดพ่างลิขิต                    เขียนร่าง  เรียงแฮ
                        ฟังเพราะเสนาะต้อง              โสตทั้งห่างภัย

    ๗. เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด
                                ใดกิจผิดพลาดแล้ว        ไป่ละ  ลืมเลย
                        หย่อนทิฐิมานะ                    อ่อนน้อม
                        ขอโทษเพื่อคารวะ                วายบาด หมางแฮ
                        ดีกว่าปดอ้อมค้อม                 คิดแก้โดยโกง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




บทเสภาสามัคคีเสวก ตอน  วิศวกรรมา

อันชาติใดไร้ศานติสุขสงบ        ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่
ณ ชาตินั้นนรชนไม่สนใจ                ในกิจศิลปะวิไลละวาดงาม
แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ              ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม
ย่อมจำนงศิลปาสง่างาม                 เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา
อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์    เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครๆ เห็นไม่เป็นที่จำเริญตา            เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย
ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก               ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย
จำเริญตาพาใจให้สบาย                  อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ
แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม          เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร
เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ       โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ
เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ         ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่
จึงยกย่องศิลปกรรม์นั้นทั่วไป           ศรีวิไลวิลาศดีเป็นศรีเมือง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว






อิศรญาณภาษิต

ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า    น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ                              รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ
ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ                                  ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล                              เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย
รักสั้นนั้นอย่าให้รู้อยู่เพียงสั้น               รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย                                    แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย                        น้ำตาลย้อยมากเมื่อไรได้หนักหนา
อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา                ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน

หม่อมเจ้าอิศรญาณ




บทพากย์เอราวัณ

อินทรชิตบิดเบือนกายิน         เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน        เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียร                    โสภาเศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี                สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์       ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา                  เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร               อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
จับระบำรำร่ายส่ายหา               ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร                  ทุกเกศกุญชร
ดังเวไชยันต์อมรินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย



ที่มา : http://www.janlom.com

แบบทดสอบ วิชาภาษาไทย 10

แบบทดสอบเรื่องคิดดีก็ได้บุญ จำนวน 10 ข้อ
วิชาภาษาไทย(รหัสท23101) ระดับ มัธยมศึกษาปีที่3
เรื่องคิดดีก็ได้บุญ จำนวน 10 ข้อ
โดย เด็กหญิง เขมจิรา เเสนเลิศ โรงเรียนผาเเดงวิทยา
คำสั่ง เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

ข้อที่ 1)
ผู้ที่ประพันธ์เรื่องตักบาตร มีนามปากกาว่าอย่างไร
   แสงกระจ่าง
   แสงสว่าง
   แสงสีทอง
   แสงตะวัน

ข้อที่ 2)
ข้อใดคือประโยคเน้นกรรม
   แมวร้อง
   ข้าวจานนี้ฉันยังไม่ได้กินเลย
   รถแล่น
   พี่ขายของ

ข้อที่ 3)
ข้อใดไม่ใช่ประโยคเน้นกรรม
   ข้าวถูกแมลงวันตอม
   นักเรียนถูกครูตำหนิ
   เสื้อถูกขโมย
   เสื้อตัวนี้ใครซื้อให้

ข้อที่ 4)
ข้อใดคือประโยคเน้นประธาน
    พ่อปลูกต้นไม้
   เสื้อถูกขโมย
   บ้านถูกรื้อ
   ถูกทุกข้อ

ข้อที่ 5)
ข้อใดเป็นคำเชื่อม
   ดังนั้น…….จึง
   ก่อน……ตอน
   แล้ว……แต่
   แต่…เมื่อ

ข้อที่ 6)
ประโยคใดมีคำเชื่อมอยู่
   พอเข้ามาในครัว แม่ก็เรียกฉันไปหุงข้าว
   แม่บอกตั้งแต่ตอนกลางคืน
   ฉันมองหน้าแม่ด้วยความแปลกใจ
   พ่อปลูกต้นไม้

ข้อที่ 7)
ข้อใดไม่ใช่คำบุพบทนำหน้าคำนาม
   ตั้งแต่
   แก่
   .ด้วย
   ของ

ข้อที่ 8)
ประโยคใดมีคำบุพบุทอยู่
   ฉันมองหน้าแม่ด้วยความแปลกใจ
   แม่ปลูกผักคะน้า
   ครูลงโทษนักเรียน
   ผิดทุกข้อ

ข้อที่ 9)
ข้อใดเป็นคำเชื่อมที่เชื่อมประโยค๓ประโยค
   แล้ว
   และ
   แล้วก็
   และก็

ข้อที่ 10)
ข้อใดเป็นคำอุทานแสดงความแปลกใจ
   อ้าว….
   โอ๊ย……
   ว๊าย…..
    อุ๊ย……