วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท


๑๐๘ มงคล พระบรมราโชวาท



          ๑.พอเพียง คือ อยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เบียดเบียนใคร
...คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง หมายความว่าสองขาของเรายืนอยู่บนพื้นได้ไม่หกล้มไม่ต้องขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่
..คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูก็ได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น...

. การประหยัด คือหลักประกันของชีวิต
...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดี ไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย..

. ประหยัด เพื่อความอยู่รอดและก้าวหน้า
...วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไปมีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้า ต่อไปได้โดยสวัสดี...



.เพียรสร้างสรรค์ความดีความเจริญเพื่อประโยชน์และความสุข
....ความพากเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง
  ....ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม..

.กำลังแห่งความเพียร นำไปสู่ความสำเร็จ
...ความเพียรที่จะเป็นกำลังได้ต้องมีลักษณะแข็งกล้า ไม่ย่อหย่อนเสื่อมคลายด้วยอุปสรรค ด้วยความยากลำบากเหน็ดเหนื่อยประการใดๆๆ หากแต่อุตสาหะพยายามกระทำเรื่อยไปไม่ถอยหลัง แม้หยุดมือก็ยังพยายามติดต่อไปไม่ทอดธุระ กำลังความเพียรจึงทำให้การงานไม่ชะงักล่าช้า มีแต่ดำเนินรุดหน้าเป็นลำดับไป จนบรรลุความสำเร็จโดยไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งขัดขวางได้...


วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บทอาขยานบทหลักชั้นมัธยมศึกษาปีที่๑-๓

นิราศภูเขาทอง

     มาถึงบางธรณีทวีโศก                 ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น  
   โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น                    ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร  
   เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้                 ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย                        
   ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ           เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ  
   ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า              ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา  
   เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา           ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย  
   โอ้สามัญผันแปรไม่แท้เที่ยง                     เหมือนอย่างเยี่ยงชายหญิงทิ้งวิสัย  
    นี่หรือจิตคิดหมายมีหลายใจ                  ที่จิตใครจะเป็นหนึ่งอย่าพึงคิดฯ  
             ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์           มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต  
   แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร                 จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
                                                                                                         (สุนทรโวหาร (ภู่)




โคลงโลกนิติ

พระสมุทรสุดลึกล้น                        คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดวา                                     หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา                                      กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้                                       ยากแท้หยั่งถึง ฯ

ก้านบัวบอกลึกตื้น                          ชลธาร
มรรยาทส่อสันดาน                                  ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน                             ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ                            บอกร้าย แสลงดิน
                                                         
โคควายวายชีพได้                          เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง                                     อยู่ไซร้
คนเด็ดดับสูญสัง-                                    ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้                                  แต่ร้าย กับดี

เพื่อนกิน สินทรัพย์แล้ว                    แหนงหนี
หาง่าย  หลายหมื่น                                  มากได้
เพื่อนตาย ถ่ายแทนชี                               วาอาตม์
หายาก ฝากผีไข้                                     ยากแท้จักหา


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาเดชานุศร





โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

๑. เพราะความดีทั่วไป
                                ทำดีไป่เลือกเว้น             ผู้ใด ใดเฮย
                         แต่ผูกไมตรีไป                      รอบข้าง
                        ทำคุณอุดหนุนใน                   การชอบ ธรรมนา
                        ไร้ศัตรูปองมล้าง                    กลับซ้องสรรเสริญ
    ๓. เพราะถามฟังความก่อนตัดสินใจ
                                ยินคดีมีเรื่องน้อย           ใหญ่ไฉน  ก็ดี
                        ยังบ่ลงเห็นไป                       เด็ดด้วน
                        ฟังตอบขอบคำไข                  คิดใคร่  ครวญนา
                        ห่อนตัดสินห้วนห้วน               เหตุด้วยเบาความ
    ๔. เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด
                                พาทีมีสติรั้ง                รอคิด
                        รอบคอบชอบแลผิด              ก่อนพร้อง
                        คำพูดพ่างลิขิต                    เขียนร่าง  เรียงแฮ
                        ฟังเพราะเสนาะต้อง              โสตทั้งห่างภัย

    ๗. เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด
                                ใดกิจผิดพลาดแล้ว        ไป่ละ  ลืมเลย
                        หย่อนทิฐิมานะ                    อ่อนน้อม
                        ขอโทษเพื่อคารวะ                วายบาด หมางแฮ
                        ดีกว่าปดอ้อมค้อม                 คิดแก้โดยโกง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




บทเสภาสามัคคีเสวก ตอน  วิศวกรรมา

อันชาติใดไร้ศานติสุขสงบ        ต้องมัวรบราญรอนหาผ่อนไม่
ณ ชาตินั้นนรชนไม่สนใจ                ในกิจศิลปะวิไลละวาดงาม
แต่ชาติใดรุ่งเรืองเมืองสงบ              ว่างการรบอริพลอันล้นหลาม
ย่อมจำนงศิลปาสง่างาม                 เพื่ออร่ามเรืองระยับประดับประดา
อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์    เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครๆ เห็นไม่เป็นที่จำเริญตา            เขาจะพากันเย้ยให้อับอาย
ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก               ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย
จำเริญตาพาใจให้สบาย                  อีกร่างกายก็จะพลอยสุขสราญ
แม้ผู้ใดไม่นิยมชมสิ่งงาม          เมื่อถึงยามเศร้าอุราน่าสงสาร
เพราะขาดเครื่องระงับดับรำคาญ       โอสถใดจะสมานซึ่งดวงใจ
เพราะการช่างนี้สำคัญอันวิเศษ         ทุกประเทศนานาทั้งน้อยใหญ่
จึงยกย่องศิลปกรรม์นั้นทั่วไป           ศรีวิไลวิลาศดีเป็นศรีเมือง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว






อิศรญาณภาษิต

ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสารโบราณว่า    น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอัชฌาสัย
เราก็จิตคิดดูเล่าเขาก็ใจ                              รักกันไว้ดีกว่าชังระวังการ
ผู้ใดดีดีต่ออย่าก่อกิจ                                  ผู้ใดผิดผ่อนพักอย่าหักหาญ
สิบดีก็ไม่ถึงกับกึ่งพาล                              เป็นชายชาญอย่าเพ่อคาดประมาทชาย
รักสั้นนั้นอย่าให้รู้อยู่เพียงสั้น               รักยาวนั้นอย่าให้เยิ่นเกินกฎหมาย
มิใช่ตายแต่เขาเราก็ตาย                                    แหงนดูฟ้าอย่าให้อายแก่เทวดา
อย่าดูถูกบุญกรรมว่าทำน้อย                        น้ำตาลย้อยมากเมื่อไรได้หนักหนา
อย่านอนเปล่าเอากระจกยกออกมา                ส่องดูหน้าเสียทีหนึ่งแล้วจึงนอน

หม่อมเจ้าอิศรญาณ




บทพากย์เอราวัณ

อินทรชิตบิดเบือนกายิน         เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน        เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
สามสิบสามเศียร                    โสภาเศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี                สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์       ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา                  เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
นางหนึ่งย่อมมีบริวาร               อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
จับระบำรำร่ายส่ายหา               ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร
มีวิมานแก้วงามบวร                  ทุกเกศกุญชร
ดังเวไชยันต์อมรินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย



ที่มา : http://www.janlom.com

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พิธีการทอดกฐิน

การทอดกฐิน 





การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)



ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้




การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน
แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษะรับไว้ก่อนได้

การที่มีประเพณีทอดกฐินมีเรื่องว่า ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ทรงธุดงค์ จำนวน ๓๐ รูป เดินทางไกลไปไม่ทันเข้าพรรษา เหลือทางอีกหกโยชน์จะถึงนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลน และเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ห้าประการคือ 
     ๑) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา 
     ๒) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ 
     ๓) ฉันคณะโภชน์ได้ 
     ๔) ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา 
     ๕) จีวรอันเกิดขึ้นนั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ห้าอีกสี่เดือน นับแต่กรานกฐินแล้วจนถึงวันกฐินเดาะเรียกว่า มาติกาแปด คือการกำหนดวันสิ้นสุดที่จะได้จีวร คือ กำหนดด้วยหลีกไป กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ กำหนดด้วยตกลงใจ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กำหนดด้วยได้ยินข่าว กำหนดด้วยสิ้นหวัง กำหนดด้วยล่วงเขต กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน
ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว หนึ่งเดือนได้ จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่าชนิดของกฐินมีสองลักษณะ คือ

จุลกฐิน การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

มหากฐิน คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี
การทอดกฐินในเมืองไทย แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาลโดยกรมศาสนาจัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้
ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน

การจองกฐิน 

 วัดราษฎร์ทั่วไป นิยมทำเป็นหนังสือจองกฐินไปติดต่อประกาศไว้ยังวัดที่จะทอดถวาย เป็นการเผดียงสงฆ์ให้ทราบวันเวลาที่จะไปทอด หรือจะไปนมัสการเจ้าอาวาสให้ทราบไว้ก็ได้
   สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอด ณ พระอารามหลวงให้แจ้งกรมการศาสนา เพื่อขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ในทางปฏิบัติผู้ขอพระราชทานจะไปติดต่อกับทางวัดในรายละเอียดต่าง ๆ จนก่อนถึงวันกำหนดวันทอด จึงมารับผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินพระราชทานจากกรมศาสนา

การนำกฐินไปทอด 

    ทำได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือนำผ้ากฐินทานกับเครื่องบริวารที่จะถวายไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนดเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือรับพระราชทานผ้ากฐินทานมาจึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย อีกอย่างหนึ่ง ตามคติที่ถือว่าการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงได้มีการฉลองกฐินก่อนนำไปวัดเป็นงานใหญ่ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน และเลี้ยงผู้คน มีมหรสพสมโภช และบางงานอาจมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระอีกด้วยเช่น ในกรณีกฐินสามัคคี พอถึงกำหนดวันทอดก็จะมีการแห่แหนเป็นกระบวนไปยังวัดที่จะทอด มีเครื่องบรรเลงมีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม
การถวายกฐิน
   นิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทาน ก่อนจะถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป พอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ที่จะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกัน นั่งบนอาสนที่จัดไว้ เจ้าภาพของกฐิน พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้าพระกฐินไปรอส่งให้ประธาน ประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคอง นำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์ แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานที่จัดไว้หน้าพระสงฆ์ และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์แบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสอง หันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วพระสงฆ์รับ สาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์
กฐินของประชาชน หรือ กฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
การทำพิธีกฐินัตการกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอม นำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนเดิม ประชาชนผู้ถวายพระกฐินทาน ทายกทายิกา และผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้น เข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพ กรวดน้ำ และรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี


คำถวายกฐิน 

มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ แบบเก่า และแบบใหม่ ดังนี้

คำถวายแบบมหานิกาย
   อิมํ สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม (กล่าวสามหน) 
   ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน พร้อมกับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ (กล่าวสามหน)

คำกล่าวแบบธรรมยุต
     อิมํ มยํ ภนฺเต สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ ปริวารํ กฐินจีวรทุสฺสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตฺวา จ อิมินา ทุสฺเสน กฐินํ อตฺถรตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย 
     ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน พร้อมกับของบริวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้งรับแล้วจงกราลกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ 






        https://www.google.com

วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วันลอยกระทง

เทศกาลลอยกระทง




    เทศกาลลอยกระทง ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี หรืออยู่ในราว เดือนพฤศจิกายนถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่มีตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย เรียกกันว่า งานลอยพระประทีป หรือลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของ ประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลง เป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม เชื่อกันว่าการ ลอยกระทง หรือลอยโคมในสมัยนางนพมาศนั้น กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระ พุทธบาทที่แม่น้ำนัมมหานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ใน แคว้นทักขิณาของประเทศ อินเดีย ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่าแม่น้ำเนรพุททา สำหรับประเทศไทยประเพณีลอยกระทง ได้กำหนดจัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง หรือ แหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป


ที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
1.
การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
2.
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
3.
การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
4.
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
5.
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
6.
การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
7.
การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล



      ลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่
กลางเดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ 
ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน 
เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง เดิมพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธี
จองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ เพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร 
พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา ก็ทำพิธียกโคมเพื่อบูชา
พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท 
ณ หาดทรายแม่น้ำนัมฆทานที ประเทศอินเดีย
       การลอยกระทงตามสายน้ำนี้ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย คิดทำกระทง
รูปดอกบัว และรูปต่างๆถวายพระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล ในหนังสือ 
ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า "แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ 
ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน  12  ให้ทำโคมลอย  เป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชา
พระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่
และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า 
"
ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรม
วงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง
ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอกทำประกวด
ประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้างวิจิตรไปด้วยเครื่องสด
คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20  ชั่งบ้าง 
ย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง" ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปี
ที่สำคัญ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดขบวนแห่กระทงใหญ่ กระทงเล็ก มีการประกวดกระทง
และประกวดธิดางามประจำกระทงด้วย ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยัง
นิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้
โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุดที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้
ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคมบนท้องฟ้าพร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาว
สวยงามมากทีเดียว



 คุณค่าและความสำคัญ
ลอย กระทงเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น เช่น เพื่อให้ความเคารพ และขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมทั้งเป็นการขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หรือ ทำความเสียหายแก่น้ำ เช่น ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ หรือลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ ซึ่งประเพณีลอยกระทงก่อให้เกิดคุณค่าและความ สำคัญ ดังนี้ 
1.
คุณค่าต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การประดิษฐ์กระทงไปลอยเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณของน้ำที่ให้คุณประโยชน์ แก่เรา
2.
คุณค่าต่อชุมชน ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน
3.
คุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันและเอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการ ช่วยกันรักษาความสะอาดแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ
4.
คุณค่าต่อศาสนา เป็นการช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงศาสนา และสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทยแต่โบราณ 

กิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริม.... 
ประเพณีลอยกระทง มีกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมให้มีการถือปฏิบัติและสืบทอดต่อไป ได้แก่
1. การทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังงานลอยกระทง เช่น ขุดลอกคูคลอง เก็บขยะหรือสิ่งปฏิกูลในแหล่งน้ำ จากนั้นก็นำกระทงไปลอยในแม่น้ำลำคลอง และทำพิธีระลึกบูชาคุณค่า ของน้ำ โดยการตั้งคำปฏิญาณที่จะรักษาแหล่งน้ำต่อไป 
2. การทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์และถือศีลปฏิบัติธรรม ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
3. การรณรงค์ประดิษฐ์กระทงโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือเป็นวัสดุที่ใช้เป็นอาหารสำหรับ สัตว์น้ำ เช่น ปลา ได้ 
4. การจัดขบวนแห่กระทง และการจัดกิจกรรมประกวดกระทง โคมลอย ไม่ควรให้ความสำคัญกับการประกวด นางนพมาศ มากเกินไปนัก 
5. การจุดดอกไม้ไฟ ควรจุดอย่างระมัดระวัง ในเวลา และบริเวณที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการเท่านั้น 
6. การละเล่นรื่นเริงตามความเหมาะสมตามประเพณีท้องถิ่นนั้น ๆ 
7. การรณรงค์ไม่ปล่อยน้ำเสียหรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงในแหล่งน้ำ



"เพลง รำวงวันลอยกระทง"

วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิง
สนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว
ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ


ที่มา  http://www.kodhit.com
         https://www.google.com


วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มองโลกอย่างวรรณกรรม


                                

                       บทที่ 2     มองโลกอย่างวรรณกรรม

       
 "การโน้มน้าวใจในโฆษณาบางเรื่อง       
   ใช้กลวิธีเร้าความรู้สึกให้เกิดอารมณ์ร่วมกับคนอื่นๆ
 ที่เป็นคนส่วนใหญ่ เช่นการโน้มน้าวใจให้รักชาติ                                      

         ห่วงใยสิ่งแวดล้อม  เห็นใจคนจน ฯลฯ"


     การโฆษณาสินค้าหรือบริการในสื่อต่าง ๆ บางรายการอาจบอกกล่าวตรง ๆ บางรายการเสนอเป็นละครฉากสั้น ๆ   มีตัวละครแสดง บางรายการแสดงในลักษณะทำให้เห็นสิ่งที่เกินจริงหรือตลกขบขัน     บางรายการก็เสนอภาพที่สับสน  วุ่นวาย การโฆษณามีจุดมุ่งหมายสร้างความสนใจให้ผู้คนสะดุดตา สะดุดใจ และจดจำสินค้าหรือบริการที่โฆษณา ผู้สร้างโฆษณาอาจใช้วิธีการต่างๆ ในการส่งสาร เช่น บอกตรง ๆ ว่าช่วยกันรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้สะอาด หรือใช้คำที่คล้องจองกัน ใช้คำที่กระตุ้นให้เกิดความประทับใจ เช่น แค่ทิ้งคนละชิ้น  เจ้าพระยาก็สิ้นแล้ว  การใช้คำว่า “สิ้น” สะกิดอารมณ์ผู้ฟัง ให้ตระหนักถึงผลเสีย ใคร ๆ ก็อยากจะ “เริ่ม” มากกว่า “สิ้น” และถ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย
“สิ้น” แล้วคนไทยจะอยู่อย่างสุขสบายต่อไปอย่างไร คนที่ฟังแล้วคิดต่อ ก็จะได้รับ “สาร” จากบทโฆษณานี้ 

   การโน้มน้าวใจในโฆษณาบางเรื่อง ใช้กลวิธีเร้าความรู้สึกให้เกิดอารมณ์ร่วมกับคนอื่น ๆ  ที่เป็นคนส่วนใหญ่ เช่น การโน้มน้าวใจให้รักชาติ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม เห็นใจคนจน ฯลฯ แต่บางเรื่องเกี่ยวกับคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น นักศึกษา นักธุรกิจ พ่อแม่  ฯลฯ ไม่สามารถจะเร้าความรู้สึกของ “คนนอก” ด้วยวิธีของ “รักเจ้าพระยา” ได้ จึงต้องใช้กลวิธีอื่น เช่น การสร้างอารมณ์หรรษา  
     
             การสร้างอารมณ์หรรษาในบทโฆษณา อาจใช้กลวิธีเดียวกับบทละครหรือนวนิยาย เพียงแต่เจาะลงที่ฉากหนึ่งและให้จบเบ็ดเสร็จในตอนสั้น ๆ องค์ประกอบที่เหมือนกันมีเนื้อเรื่อง ตัวละคร ฉาก บทสนทนา แนวคิด เป็นต้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือศิลปะ  ถ้านับว่าวรรณกรรมคืองานประพันธ์ที่สื่อความรู้สึกนึกคิดอย่างมีศิลปะ  ศิลปะในที่นี้หมายถึง การเลือกรูปแบบ การสรรคำ การแสดงออก การทำให้ผู้ชมงานศิลปะเกิดความหยั่งเห็น เป็นต้น โฆษณาบางชิ้นก็เป็นวรรณกรรมได้
         โฆษณาดี ๆ หลายบทดูเพลิน น่าติดตามยิ่งกว่าตัวรายการเสียอีก   ยิ่งถ้าได้   “อ่าน” โฆษณาอย่างวรรณกรรม ก็จะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง
            
โฆษณาดี ๆ มีสารที่จรรโลงใจให้ผู้ดูได้หยั่งเห็นและฉุกคิดอยู่มากเหมือนกัน เช่นเรื่องความรับผิดชอบ ความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูกกับญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น ความเข้าใจของลูกตัวน้อย ๆ เป็นแรงใจให้พ่อแม่ได้เป็นอย่างดี เช่น พ่อลูกขับรถกลับบ้านในยามค่ำ ลูกถามพ่อว่าทำไมต้องทำงานหนักด้วย พ่อบอกว่า จะได้ซื้อบ้านใหญ่ ๆ ให้ลูก  เผอิญรถต้องเบรกกะทันหันเห็นอันตรายจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว
ลูกจึงตอบว่า เราอยู่บ้านเล็ก ๆ ก็ได้ เท่ากับบอกว่าหนูเป็นห่วงพ่อ อย่าทำงานหนักมมากจนเกินไป เพื่อสิ่งนี้เลย เจ้าของสินค้าได้ประโยชน์ถึง ๒ ทาง  ทางหนึ่งมีผู้รับรู้ว่าสินค้ามีคุณภาพอีกทางหนึ่งช่วยสร้างสำนึกที่ดีในใจผู้เป็นลูก
                            

             ตัวอย่างของความรู้สึกดี ๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ความภูมิใจในตัวพ่อแม้จะมีอาชีพที่ใครๆ มองว่าสามัญมาก เด็กชายคนหนึ่งบอกเพื่อน ๆ ถึงอาชีพของพ่อและยังยืนยันกับพ่อว่า โตขึ้นเขาจะประกอบอาชีพอย่างพ่อ เพราะทึ่งในฝีมือการทำงานของพ่อซึ่งพ่อบอกว่าเป็นเคล็ดลับ  ยิ่งทึ่งหนักขึ้นไปอีกเมื่อพ่อ
บอกลูกว่าได้เคล็ดลับมาจากปู่ มรดกที่พ่อได้จากปู่ ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นกลเม็ดที่ทำให้เป็นช่างฝีมือเหนือใคร มรดกนี้เด็กชายก็กำลังจะได้รับจากพ่ออีกต่อหนึ่ง จึงน่าภูมิใจยิ่งนัก  ดูโฆษณาอย่างนี้แล้วสบายใจ อิ่มใจเหมือนได้อ่าน หนังสือดี ๆ เรื่องหนึ่ง     ถ้าผู้สร้างโฆษณาตั้งอกตั้งใจ พิถีพิถัน และมีรสนิยมอย่างนี้มาก ๆ ก็คงจะดี
           ข้อคิดจากเรื่อง
โฆษณาที่มีศิลปะ ควรนับเป็นวรรณกรรมได้ โดยเฉพาะโฆษณาที่เลือกรูปแบบการโน้มน้าวที่น่าสนใจ มีการสรรคำ มีการนำเสนอที่ชวนให้ติดตาม โฆษณาทำหน้าที่เหมือนวรรณกรรมได้ โดยเฉพาะการสะท้อนภาพสังคม โฆษณาที่ดีมีสารจรรโลงใจ ทำให้ได้รับข้อคิดที่เป็นประโยชน์หรือทำให้สบายใจ เช่น โฆษณากระตุ้นให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบเรื่องรักษาสภาพแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือโฆษณาที่ชี้ให้เห็นความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
      เรียนรู้เรื่องโฆษณา
โฆษณาเป็นการสื่อสารโน้มน้าวใจประเภทหนึ่ง มุ่งจูงใจเพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งยังจูงใจให้ผู้รับสารประพฤติปฏิบัติตามความมุ่งหมายของผู้โฆษณาด้วย
      ส่วนประกอบของโฆษณา  
        โฆษณามีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ ภาษาที่ใช้และการโน้มน้าวใจ                                                                                                                   ๑. เนื้อหา ชี้ให้เห็นแต่ความดีพิเศษของสินค้า การบริการ หรือกิจกรรมที่โฆษณา
๒. รูปแบบการนำเสนอโฆษณามีรูปแบบต่างๆเช่น เป็นคำขวัญ ข้อความสั้น ๆ บทสนทนา ตำนาน นิทาน เป็นต้น
๓. ภาษาโฆษณา โฆษณาจะใช้ทั้งคำพูดและภาษาที่สื่อด้วยสิ่งอื่นๆเช่น ท่าทาง รูปภาพเป็นต้น ในโฆษณามักจะใช้ใช้ถ้อยคำแปลกใหม่ สะดุดหู สะดุดตา สะดุดใจ ใช้ประโยคหรือวลีสั้นๆ
๔.การโน้มนาวใจ การโน้มน้าวใจของโฆษณามีหลายวิธีเช่น ๔.๑อ้างสถิติบุคคลหรือองค์กร ๔.๒ ตอบสนองธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งห่วงใยสุขภาพ ความปลอดภัย  ความสุข 
ความมั่นคงในชีวิต


        ประโยชน์
โทษของการโฆษณา
      โฆษณามีทั้งประโยชน์และโทษ ประโยชน์ของโฆษณา คือ  
เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้รู้จักสินค้าหลายประเภท ทำให้มี
โอกาสเลือกสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมหรือตรงตามความต้องการ การบริการที่สะดวก ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม รู้จักประหยัด   และรู้จักกาลเทศะ                                            โทษของโฆษณา เช่น  คำโฆษณาที่เกินจริงทำให้เข้าใจผิด รือหลงผิดไปตามคำโฆษณาที่มุ่งแต่จะขายสินค้าหรือบริการเท่านั้น ทำให้ตัดสินใจ
 เสนอค่านิยมที่ผิด ๆ เช่น การใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สินค้าที่ต้องการ การพูดปดหลอกลวงเพื่อให้ได้ของของผู้อื่น การกระทำที่ผิดมารยาทของวัฒนธรรมไทย  
     โฆษณาอาจสะท้อนภาพสังคมในนนนแต่ละสมัยได้ โฆษณาบางเรื่องอาจแสดงให้เห็นค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมไทย  โฆษณาบางเรื่องสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยแปลงของค่านิยมของสังคมไทยไปในทางที่ไม่ดีงามไม่เหมาะสม เช่น ผู้หญิงเปิดเผยเนื้อตัวมากขึ้น ไม่สงวนท่าทีไม่สนใจผู้ชายและบางครั้งกล้าแสดงความสนใจฝ่ายชายก่อน โฆษณาในปัจจุบันยังนิยมให้เด็กๆโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นเป็นสื่อในการโฆษณา บางครั้งให้เด็กทำตัวเกินวัยในเรื่องการมีคู่

        อิทธิพลของภาษาโฆษณา
ผู้คิดภาษาโฆษณา พยายามสรรคำที่กระชับ เข้าใจง่าย มีความเปรียบที่ชัดเจน และสามารถสื่อความหมายได้ตรงกับคุณสมบัติของสินค้าและบริการบางครั้งจึงไม่เคร่งครัดในเรื่องภาษา จะต้องใช้ภาษาแบบที่เคยใช้มาแต่เดิมเช่น อาจนำคำที่ไม่เคยปรากฏร่วมกันมาเรียงอยู่ด้วยกัน เช่น นำคำว่า โดน มาใช้กับคำว่า ใจ เป็นโนใจ เพื่อสื่อความหมายว่า ประทับใจอย่างมาก ตรงตามความต้องการอย่างยิ่ง การใช้ภาษาโดยไม่มีกรอบที่เคยใช้ ทำให้เกิดผลสำคัญ ๒ ประการ มีผลดังนี้
๑. ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ภาษาที่มีความงามระดับวรรณศิลป์ เช่น คำขวัญโฆษณา
เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้ มีลักษณะทางวรรณศิลป์คือ ใช้คำง่าย กระชับ สื่อความหมายกว้างขวางลึกซึ้งคำว่า เที่ยว-ไปมีเสียงสัมผัสพยัญชนะ/ท/ คำว่าเมือง-ไม่ มีสัมผัสพยัญชนะ/ม/ คำว่า ไท-ไม่ ไปมีเสียงสัมผัสสระ ไอ คำว่า ไม่ไปไม่รู้ มีจังหวะของคำที่สมดุล ใช้คำปฏิเสธ ไม่ ร่วมกับคำกริยา ไป และ รู้ ตามลำดับนอกจากนี้ คำว่า เที่ยว ไป และ รู้  ยังสื่อความหมายที่ลึกซึ้งว่า การท่องเที่ยวคือ การเดินทางไปให้ได้พบสิ่งใหม่เพื่อจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่มีค่า


๒.เป็นแบบอย่างที่ให้คนในสังคมใช้ตามจนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับภาษา เช่น เกิดคำใหม่ วลีใหม่ สำนวนใหม่ซึ่งไม่เคยมีใครใช้มาก่ินในขณะเดียวกันคำ วลี และสำนวนซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกันและใช้มาแต่เดิมเริ่มนิยมใช้น้อยลง เช่น เมื่อคนในสังคมใ้ช้คำว่า โดนใจ แทนคำว่า ประทับใจ ถูกใจ ถูกต้องแล้วครับ แทนคำว่า ถูก เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็จะเป็นภาษาที่เปลี่ยนไปได้ในที่สุด อาจทำให้คนที่อยู่ต่างสมัยกันเข้าใจคำคำเดียวกันไปคนละทาง


ที่มา:http://jame-m3.blogspot.com เรื่อง มองโฆษณษอย่างวรรณกรรม

แบบทดสอบ วิชาภาษาไทย 10

แบบทดสอบเรื่องคิดดีก็ได้บุญ จำนวน 10 ข้อ
วิชาภาษาไทย(รหัสท23101) ระดับ มัธยมศึกษาปีที่3
เรื่องคิดดีก็ได้บุญ จำนวน 10 ข้อ
โดย เด็กหญิง เขมจิรา เเสนเลิศ โรงเรียนผาเเดงวิทยา
คำสั่ง เลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

ข้อที่ 1)
ผู้ที่ประพันธ์เรื่องตักบาตร มีนามปากกาว่าอย่างไร
   แสงกระจ่าง
   แสงสว่าง
   แสงสีทอง
   แสงตะวัน

ข้อที่ 2)
ข้อใดคือประโยคเน้นกรรม
   แมวร้อง
   ข้าวจานนี้ฉันยังไม่ได้กินเลย
   รถแล่น
   พี่ขายของ

ข้อที่ 3)
ข้อใดไม่ใช่ประโยคเน้นกรรม
   ข้าวถูกแมลงวันตอม
   นักเรียนถูกครูตำหนิ
   เสื้อถูกขโมย
   เสื้อตัวนี้ใครซื้อให้

ข้อที่ 4)
ข้อใดคือประโยคเน้นประธาน
    พ่อปลูกต้นไม้
   เสื้อถูกขโมย
   บ้านถูกรื้อ
   ถูกทุกข้อ

ข้อที่ 5)
ข้อใดเป็นคำเชื่อม
   ดังนั้น…….จึง
   ก่อน……ตอน
   แล้ว……แต่
   แต่…เมื่อ

ข้อที่ 6)
ประโยคใดมีคำเชื่อมอยู่
   พอเข้ามาในครัว แม่ก็เรียกฉันไปหุงข้าว
   แม่บอกตั้งแต่ตอนกลางคืน
   ฉันมองหน้าแม่ด้วยความแปลกใจ
   พ่อปลูกต้นไม้

ข้อที่ 7)
ข้อใดไม่ใช่คำบุพบทนำหน้าคำนาม
   ตั้งแต่
   แก่
   .ด้วย
   ของ

ข้อที่ 8)
ประโยคใดมีคำบุพบุทอยู่
   ฉันมองหน้าแม่ด้วยความแปลกใจ
   แม่ปลูกผักคะน้า
   ครูลงโทษนักเรียน
   ผิดทุกข้อ

ข้อที่ 9)
ข้อใดเป็นคำเชื่อมที่เชื่อมประโยค๓ประโยค
   แล้ว
   และ
   แล้วก็
   และก็

ข้อที่ 10)
ข้อใดเป็นคำอุทานแสดงความแปลกใจ
   อ้าว….
   โอ๊ย……
   ว๊าย…..
    อุ๊ย……